Thursday, February 16, 2006

 

BBC. Thai


บทวิทยุฉบับแรกที่ออกอากาศทางวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย ค่ำวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2484
เนื้อหาของบทวิทยุฉบับแรกที่ออกอากาศทางบีบีซีภาคภาษาไทย ต้นฉบับตัวจริงสูญหายไป แต่อาจารย์เสนาะ ตันบุญยืน ผู้ประกาศคนแรก กรุณาเขียนให้ใหม่จากบันทึกที่เก็บรวบรวมไว้

การเดินทางมายุโรป

สวัสดีครับ

การเดินทางของพวกเรา 7 คนออกจะแปลกกว่านักเรียนไทยรุ่นก่อน ผมจำได้ว่าก่อนที่ผมมา ได้เคยไปส่งคุณพร ศรีจามรที่ท่าเรือวัดพระยาไกร ลงเรือสินค้าของบริษัทอีสต์เอเชียติคส์ซึ่งนอกจากจะขนไม้สักและข้าวสารกับเครื่องเทศมาประเทศเดนมาร์กแล้ว ก็ยังมีดาดฟ้าแบ่งเป็นห้องนอนผู้โดยสารได้ประมาณ 30 คน

พวกที่เคยมากันแบบนี้มาบ่นให้ฟังว่าเรือพวกนี้ต้องมาจอดที่เกาะสีชังตั้งเกือบอาทิตย์หนึ่งเพื่อขนสินค้าลงเรือให้ครบจำนวน เพราะถ้าเอาไปลงที่ท่าเรือวัดพระยาไกรแล้ว เรือจะผ่านสันดอนที่ปากแม่น้ำไม่ได้ การมาติดอยู่ที่เกาะสีชังนี้ทำให้พวกเราเศร้ามากเพราะมองเห็นเมืองไทยโดยเฉพาะพระเจดีย์กลางน้ำทุกวัน แต่ไม่สามารถติดต่อญาติพี่น้องได้

พวกเราดูเหมือนจะเป็นพวกแรกที่ร่ำลาพ่อแม่พี่น้องและเพื่อนๆที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เนื่องจากเรามากัน 7 คน พวกที่มาส่งจึงมายืนกันล้นหลามตลอดชานชาลาข้างรถไฟด่วนสายใต้ พอถึงเวลา 16.00 น. รถไฟก็ค่อยๆเคลื่อนออกจากสถานี เราต่างคนต่างก็ไปยืนริมประตูหน้าต่าง โบกไม้โบกมืออำลากันจนถึงนาทีสุดท้าย

วันรุ่งขึ้น เมื่อรถไฟเข้าเทียบชานชาลาสถานีเมืองปีนัง ก็มีเจ้าหน้าที่สถานกลสุลไทยมาคอยรับ พาไปส่งที่โรงแรม แล้วก็บอกให้รู้ว่าจะต้องรอเรือโดยสารที่จะมาจากญี่ปุ่นอีก 5 วันข้างหน้า ญี่ปุ่นมีเรือโดยสารขนาดใหญ่กว่าเรืออีสต์เอเชียติคส์มาก ทำให้พวกที่กลัวเมาคลื่นสบายใจกันเพราะเป็นที่รู้กันมาแล้วว่าระหว่างเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่เรือจะต้องผ่านมหาสมุทรอินเดีย อาจมีมรสุมและพายุฝนผ่านมาซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น

พวกเราออกเดินทางจากกรุงเทพฯวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 แล้วขึ้นเรือโดยสาร สุวามารู ที่ปีนังวันที่ 19 พฤษภาคม ใช้เวลาเดินทางเดือนหนึ่งกับ 4 วันจึงเข้าเทียบท่าเมืองมาเซลล์ตอนใต้ฝรั่งเศส ระหว่างทาง เราเจอพายุจัด 2 ครั้ง ทำให้คนโดยสารที่เคยมากันเต็มห้องรับประทานอาหารร่อยหรอไปมาก

สำหรับพวกเรา 7 คนก็ต้องมีการจัดหน่วยบริการ คอยหยอดข้าวหยอดน้ำให้แก่พวกที่โงหัวไม่ขึ้นหลายคน แต่เคราะห์ดีที่ว่าเรามีหมอมาด้วยสองคนคือหมออำนวย เสมรสุต และหมอสงวน โรจนวงศ์ คอยประคับประคองให้ยาที่เอาติดตัวมาด้วย ทำให้อาการเมาคลื่นหายเร็วขึ้น

ที่เมืองมาเซลล์ ก็มีเจ้าหน้าที่สถานกงสุลไทยมารับที่ท่าเรือเช่นกันแต่เจ้าหน้าที่เป็นชาวฝรั่งเศส เคราะห์ดีที่เรามีคุณกนต์ธีร์ ศุภมงคล ที่จบจากโรงเรียนอัสสัมชัญภาษาฝรั่งเศสก่อนไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ คุณกนต์ธีร์เป็นคนเดียวที่จะลงที่ปารีสเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยที่นั่น เราจึงมีล่ามประจำคณะระหว่างที่เดินทางโดยรถไฟไปปารีส พักอยู่ที่นั่น 4-5 วัน แล้วก็ขึ้นรถไฟข้ามช่องแคบอังกฤษ มาถึงกรุงลอนดอนตอนปลายเดือนมิถุนายน

ตั้งแต่ขึ้นบกที่เมืองมาเซลล์แล้วเดินทางข้ามทวีปยุโรปมาลอนดอน เราก็ได้เห็นว่าบ้านส่วนใหญ่นั้นปลูกติดๆกันอย่างห้องแถว แต่ละบ้านมีปล่องไฟพ่นควันดำๆออกมา ระหว่างทางมีบ้านใหญ่ๆตั้งอยู่โดดเดี่ยวหลายแห่ง มีทุ่งนาและฟาร์มเลี้ยงวัวเลี้ยงแกะเป็นระยะๆ แกะที่นี่มีขนปุกปุย ทราบว่าถึงแม้จะเข้าฤดูใบไม้ผลิแล้ว แกะเหล่านั้นก็ยังต้องรอไปจนถึงเดือนกรกฎาหรือสิงหา ก่อนที่เจ้าของจะให้คนมาตัดขนออกหมด

ดูเหมือนว่าคนไทยทั้งประเทศอังกฤษมีไม่ถึง 200 คน สำหรับกรุงลอนดอนก็มีเพียง 10 กว่าคนเท่านั้น พอข่าวว่าจะมีคนไทยมาใหม่พร้อมๆกันถึง 5 คน พวกที่อยู่ก่อนก็ตื่นเต้นเพราะกว่าจดหมายจะมาถึงที่นี่จากเมืองไทยก็ใช้เวลากว่า 2 เดือน

สมาคมนักเรียนไทยในลอนดอนจัดงานพบปะกันทุกเดือน ก็เลยชวนพวกเรามาร่วมด้วย ขอให้เล่าเรื่องต่างๆซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีนักเรียนไทยหลายคนที่มาเรียนตั้งแต่เล็กๆ พูดภาษาไทยไม่ค่อยชัด มักจะต้องใช้ภาษาอังกฤษผสมไปด้วย ทำให้พวกเราที่พึ่งมาต้องใช้เวลาคิดหาคำตอบกันนานสักหน่อยอย่างเช่นที่เราประสบมาแล้วในเรือเพราะเจ้าพนักงานญี่ปุ่นทุกคนมีภาษาอังกฤษแบบของญี่ปุ่น ทั้งๆที่เราต่างก็เคยมีอาจารย์ชาวอังกฤษและอเมริกัน แต่มาประสบภาษาอังกฤษแบบญี่ปุ่นเข้า เราก็ตกตะลึงไปตามๆกัน

หลังจากที่ทุกคนได้รายงานตัวกับผู้ดูแลนักเรียนและเอกอัครราชทูตแล้ว ก็แยกย้ายไปอยู่กันตามเมืองต่างๆ เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยเดือนตุลาคม ผมเองถูกส่งให้ไปอยู่กับครอบครัวอังกฤษที่เมืองเซาท์ซี เมืองชายทะเลตอนใต้ใกล้ๆกับท่าเรือปอร์ตสมัทตลอดฤดูร้อน ซึ่งผมจะนำมาเล่าให้ท่านฟังคราวหน้า

This page is powered by Blogger. Isn't yours?