Tuesday, January 31, 2006

 

ชื่อเรื่อง.... อวสานตำนานบทละครผู้ยิ่งใหญ่



อาร์เธอร์ มิลเลอร์
ในที่สุดโลกก็ได้สูญเสียนักเขียนบทละครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งไปแล้ว นั่นคือ อาร์เธอร์ มิลเลอร์ วัย 89 ปี ผู้ละสังขารจากไปอย่างสงบ ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เนื่องจากเส้นโลหิตอุดตัน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา(2005) ทิ้งไว้เพียงตำนานบทละครอันยืนยง

อาร์เธอร์ มิลเลอร์ คือนักเขียนผู้ใช้บทละครเป็นสื่อในการปลุกจิตสำนึกของผู้คนในสังคม และเป็นผู้ประพันธ์บทละครที่เรียกได้ว่าเป็นหมุดหมายหนึ่งของการละครในศตวรรษที่ 20 นั่นคือ Death of A Salesman หรือ "อวสานเซลส์แมน" ซึ่งกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวในยุค "ฉันจึงมาหาความหมาย" อันประกอบด้วยผู้ที่กลายมาเป็นนักเขียน นักการละคร และผู้กำกับภาพยนตร์ในปัจจุบันอย่าง สุชาติ สวัสดิ์ศรี, รัศมี เผ่าเหลืองทอง, คำรณ คุณะดิลก, วีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์ และยุทธนา มุกดาสนิท เคยนำบทละครเรื่องนี้มาแสดงจนโด่งดัง กลายเป็นตำนานละครเวทีหน้าหนึ่งของบ้านเราไปเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว

บทละครเรื่อง "อวสานเซลส์แมน" ซึ่งเปิดแสดงที่บรอดเวย์เมื่อปี 1949 ได้ส่งผลให้มิลเลอร์กลายเป็นพี่เบิ้มแห่งวงการละครเวทีอเมริกาไปในทันที และสามารถคว้าสามรางวัลสุดยอดของการละครในปีนั้น ทั้งพูลิตเซอร์ ไพรซ์, นิวยอร์ก ดรามา คริติคส์ เซอร์เคิล อวอร์ด และเดอะ โทนี มาครอบครองได้อย่างสง่างาม ในขณะที่เขามีอายุเพียงแค่ 33 ปี

โรเบิร์ต ไวท์เฮด โปรดิวเซอร์แห่งโรงละครบรอดเวย์ ผู้มีโอกาสทำงานร่วมกับมิลเลอร์บ่อยครั้ง กล่าวถึงบทละครของเขาว่า "ในเนื้องานของมิลเลอร์ กอปรด้วยจิตสำนึกอันเป็นประทีปส่องสว่างให้แก่โลก" และ"ตลอดทั้งชีวิตเขาแสวงหาคำตอบกับสิ่งที่เขามองเห็นอยู่รายรอบตัวว่าเป็นความอยุติธรรมของโลก"

อาร์เธอร์ มิลเลอร์ เกิดเมื่อปี 1915 ในมหานครนิวยอร์ก ศูนย์กลางละครเวทีของโลกเป็นบุตรชาวยิว เจ้าของโรงงานผลิตเสื้อโค้ตผู้มั่งคั่ง วัยเด็กของเขาจึงเปี่ยมไปด้วยความสุขล้นเหลือ อย่างที่เขาเขียนไว้ใน Timebends : A Life อัตชีวประวัติของเขาว่า "ชีวิตคลี่เผยให้ผมเห็น ราวกับเป็นหนังสือม้วนที่มีแต่ข้อความอันน่าตื่นเต้น และเต็มไปด้วยข่าวดี"

แต่แล้วภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ในอเมริกาก็พลิกชีวิตของเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อกิจการของครอบครัวเขาต้องล้มครืน เขาต้องออกหางานทำเพื่อจุนเจือครอบครัวอีกแรงด้วยการเป็นเด็กส่งขนมปัง ประสบการณ์ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตนี้ได้กลายมาเป็นแก่นเรื่องที่สะท้อนอยู่ในงานหลายๆ ชิ้นของเขา ไม่ว่าจะเป็น "อวสานเซลส์แมน" The Price ไปจนถึง After The Fall, The American Clock และA Memory of Two Mondays

หลังจบชั้นไฮสกูลในปี 1932 เขาทำงานในโกดังอะไหล่รถยนต์เพื่อเก็บเงินเรียนต่อมหาวิทยาลัย มิลเลอร์ เคยกล่าวไว้ว่า เขาไม่ได้เรียนได้ดีเด่นอะไรนัก แต่เขารู้ว่าเขาต้องการจะเป็นนักเขียน เขาเล่าว่าเมื่อตอนอายุ 16 เขากลายเป็นจุดสนใจของเพื่อนๆ เนื่องจากความเป็นนักเล่าเรื่องของเขา

เมื่อเก็บออมเงินได้พอเพียงสำหรับการเข้าเรียนปีหนึ่งที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนแล้ว เขาตั้งความหวังว่าเขาจะสามารถเขียนบทละครที่ดี เพื่อคว้ารางวัล Avery Hopwood Award อันเป็นรางวัลที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยได้ โดยจุดประสงค์หลักของเขาคือต้องการเงินรางวัลเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อปีสอง
อย่างไรก็ดี เขาไม่สามารถทำได้ตามความตั้งใจในปีหนึ่ง แต่ประสบผลสำเร็จในปีต่อมา และกลายเป็นจุดเริ่มต้นอันมั่นใจที่จะก้าวไปสู่การนักเขียนบทละคร ทว่าบทละครในช่วงแรกของเขาหลังจบการศึกษาถูกปฏิเสธจากผู้อำนวยการสร้างเกือบหมด ยกเว้นอยู่เรื่องเดียวคือ The Man Who Had All the Luck ที่เปิดแสดงเพียงสี่รอบบนเวทีบรอดเวย์ในปี 1944

ปี 1940 มิลเลอร์สมรสกับอดีตเพื่อนนักศึกษา แมรี เกรซ สแลตเทอรี และมีบุตรด้วยกันสองคน เขาหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำงานเขียนบทละครวิทยุ และพยายามเขียนบทละครอยู่เรื่องหนึ่ง "ผมวางเดิมพันกับตัวเอง" เขาเขียนไว้ในอัตชีวประวัติ "ผมจะเก็บบทละครนี้จนกว่าจะแน่ใจว่าทุกๆ หน้าของมันเคี่ยวข้นสมบูรณ์แบบ แล้วจากนั้น หากว่าสิ่งที่ผมคิดมันผิด ผมก็จะหันหลังให้กับโรงละคร ไปเขียนแนวอื่นเสีย"

บทละครที่ว่านี้คือ All My Sons ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสิบบทละครยอดเยี่ยมของปี 1947 และคว้าสองรางวัล ได้แก่ โทนี อวอร์ด และนิวยอร์ก ดรามา คริติคส์ เซอร์เคิล อวอร์ด นั่นคือก้าวแรกของการเป็นนักเขียนบทละครอาชีพอย่างเต็มตัว และจากความสำเร็จนี้ได้เปิดโอกาสให้เขามีเวลาซุ่มเขียนบทละครเรื่องที่กลายเป็นตำนานของวงการละครมาจนทุกวันนี้ นั่นคือ "อวสานเซลส์แมน"

อวสานเซลส์แมน บทละครสะท้อนมายาภาพของความฝันแบบอเมริกันที่เข้าไปปลุกสำนึกอเมริกันชนให้ตื่นฟื้นขึ้นมาเผชิญกับความเป็นจริง ได้สร้างประวัติศาสตร์ของบรอดเวย์ที่ละครเรื่องหนึ่งสามารถกวาดมาได้ทั้งสามรางวัลใหญ่ บทละครเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 29 ภาษา เปิดแสดงไปทั่วโลก แม้กระทั่งที่ปักกิ่ง เฉพาะที่บรอดเวย์เปิดแสดงทั้งสิ้นรวม 742 รอบ

ต่อมาในปี 1950 มิลเลอร์ได้ดัดแปลงบทละครเรื่อง "ศัตรูของประชาชน" หรือ An Enemy of the People ของ อิบเสน นักเขียนบทละครชื่อดังชาวนอร์เวย์ที่เขายกย่องเป็นครูของเขา และนำมาเปิดแสดงที่บรอดเวย์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ละครเรื่องนี้ ซึ่งมีตัวเอกเผชิญกับแรงกดดันให้คล้อยตามกับอุดมการณ์แห่งยุคสมัย คือสิ่งที่มิลเลอร์พยายามสะท้อนสภาวะความไร้เสรีภาพภายใต้ยุคนายพลแมคคาร์ธี

บทละครเรื่องต่อมาที่มีลักษณะต่อต้านลัทธิแมคคาร์ธีเช่นเดียวกันกับ "ศัตรูของประชาชน" คือ The Crucible หรือ "หมอผีครองเมือง" มิลเลอร์เขียนบทละครนี้จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์การปราบปรามผู้ที่เชื่อกันว่าเป็นแม่มดในเมืองซาเล็ม ในศตวรรษที่ 17 และละครเรื่องนี้ ซึ่งบางคนมองว่าเป็นการมุ่งประณามส่วนบุคคลก็ได้กลายเป็นต้นเหตุของการแตกหักกับอีเลีย คาซาน ผู้กำกับคู่ใจของเขา เนื่องจากคาซานได้ตัดสินใจขายชื่อเพื่อนให้กับสภาคณะกรรมการการกระทำอันไม่เป็นอเมริกัน (House Un-American Activities Committee หรือพูดง่ายๆ คือหน่วยกำจัดคอมมิวนิสต์ คล้ายกับ กอ.รมน.บ้านเราในยุคหนึ่งนั่นเอง)

ละคร "หมอผีครองเมือง" ซึ่งได้ผู้กำกับคนใหม่มาไม่ประสบความสำเร็จ แม้มิลเลอร์จะนำมาทำใหม่อีกรอบ แทรกบทที่ถูกตัดออก แต่ผลตอบรับก็ยังเช่นเดิม ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองอันตึงเครียดในยุคนั้น อย่างไรก็ดี บทละครเรื่องนี้ได้คว้ารางวัลโทนีอวอร์ดในปี 1953 และกลายเป็นผลงานที่ถูกนำมาสร้างบ่อยครั้งที่สุดของเขา มิลเลอร์ เขียนไว้ว่า "ผมแทบจะบอกได้เลยว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศนั้นเป็นเช่นไร หากบทละครเรื่องนี้เป็นที่นิยมในประเทศนั้นๆ"
มิลเลอร์ เล่าถึงเจตนารมณ์ของการเขียน "หมอผีครองเมือง" ไว้ว่า เขาหวังว่าบทละครเรื่องนี้จะถูกมองในฐานะเครื่องยืนยันการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เพื่อดำรงไว้ซึ่งจิตสำนึกของปัจเจกชน เขาเคยให้สัมภาษณ์ด้วยความภาคภูมิใจในปี 1987 ว่า "ผมตื้นตันใจมากที่ รอยัล เชคสเปียร์ คอมพานี นำมาสร้างใหม่อีกครั้ง และตระเวนแสดงตามมหาวิหารในอังกฤษ และที่โปแลนด์ นักแสดงบอกว่ามันเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาเลย เจ้าหน้าที่รัฐน้ำตาซึม พวกเขาพูดไม่ออกหลังละครแสดงจบ ทุกคนรู้ว่าทำไม เพราะเขาต้องสะกดกลั้นกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากละคร นั่นคือสิ่งที่ผมภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต พันธกิจของการละครก็คือ ต้องเปลี่ยนและปลุกจิตสำนึกของผู้คนให้ถึงความเป็นมนุษย์มากที่สุด"

ทว่าในปี 1956 มิลเลอร์เองถูกเชิญตัวไปให้ปากคำกับสภาคณะกรรมการการกระทำอันไม่เป็นอเมริกัน ในขณะนั้นความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างเขากับมาริลีน มอนโร ดาราสาวที่เจิดจรัสอยู่ในฮอลลีวู้ดนั้นกำลังเป็นที่ฮือฮา และทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่โด่งดังเสียยิ่งกว่าการได้รับรางวัลใดๆ เสียอีก
ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นเป้าสนใจของมหาชนเป็นอย่างยิ่ง และประจวบกับเป็นยุคตกต่ำของคณะกรรมการนี้ด้วย มิลเลอร์ได้รับเสียงปรบมือชื่นชมไปทั่ว เมื่อเขาปฏิเสธที่จะระบุชื่อนักเขียนที่เขาพบในการประชุมนักเขียนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งนับเป็นการกระทำอันกล้าหาญภายใต้บรรยากาศยุคนั้นอันมีแต่ความหวาดกลัว

บรุค แอตคินสัน นักวิจารณ์ชื่อดังแห่งเดอะไทม์ส เขียนไว้เมื่อปี 1957 เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ว่า "เขาปฏิเสธที่จะเป็นสาย เขาปฏิเสธที่จะเปลี่ยนจิตสำนึกปัจเจกไปเป็นการรับใช้รัฐ เขาถูกตั้งข้อหาว่าหมิ่นประมาทสภาคองเกรส นั่นคือเครื่องสะท้อนความชายคนนี้ ผู้เป็นเจ้าของบทละครที่กอปรด้วยสำนึกอันสูงส่ง ได้เป็นอย่างดี" และสองปีต่อมาศาลก็สั่งยกฟ้องข้อกล่าวหาเขา

ปี 1956 แม้จะอยู่ในช่วงของการมีคดีที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล มิลเลอร์ยังเดินเข้าสู่ประตูวิวาห์อีกครั้งกับ มาริลีน มอนโร หลังจากทั้งคู่หย่ามาเรียบร้อยกับคู่รักเดิมของตัว มิลเลอร์แทบมิได้เอ่ยถึงสี่ปีแห่งชีวิตสมรสครั้งใหม่ของเขาเลยในอัตชีวประวัติ นอกจากบทภาพยนตร์เรื่อง Misfits ที่เขาบอกว่าเขียนเป็นของขวัญแด่คนรักของเขา ผู้ที่ต้องทุกข์ทรมานจากอาการประสาทหลอนและการติดยานอนหลับ ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉายในปี 1961 เพียงไม่นานหลังจากการสิ้นสุดชีวิตคู่ลงด้วยการหย่า หนึ่งปีต่อมามิลเลอร์ก็แต่งงานใหม่ และหกเดือนจากนั้นมอนโรเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาด

หลังการตายของมอนโร After the Fall อันเป็นบทละครที่เปิดเผยชีวิตส่วนตัวของมิลเลอร์มากที่สุด ออกสู่สายตาสาธารณชนในปี 1964 บทละครเรื่องนี้ ซึ่งเขียนขึ้นหลังการอับปางของชีวิตคู่ สะท้อนนัยการพยายามทำความเข้าใจของเขากับความรับผิดชอบต่อมอนโรต่อความไม่สามารถจะรับมือกับมรสุมชีวิตของเธอ และต่อความล้มเหลวที่จะช่วยเธอ

ในปี 1965 มิลเลอร์รับตำแหน่งประธาน PEN สากล อันเป็นองค์กรช่วยเหลือกวี นักเขียน บรรณาธิการทั่วโลกในด้านสิทธิมนุษยชน ในยุคที่เขาเป็นประธานนี้มีการเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิของนักเขียนอย่างคึกคัก ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่เขาชอบรำลึกถึงเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการได้มีส่วนช่วยชีวิตนักเขียนแห่งกาฬทวีปผู้หนึ่ง ซึ่งต่อมากลายเป็นนักเขียนรางวัลโนเบล นั่นคือ โวเล ซอยอินกา ในปี 1966 เขาส่งสาส์นฉบับหนึ่งถึงนายพลยากูบู โกวอน ผู้กำลังจะโค่นล้มรัฐบาลไนจีเรีย เพื่อขอไว้ชีวิตให้กับซอยอินกา นักเขียนที่กำลังจะเข้าสู่แดนประหาร มิลเลอร์ เขียนเล่าไว้ว่า เมื่อท่านนายพลเห็นชื่อเขา "เขาเอ่ยถามด้วยความไม่อยากเชื่อว่าผมคือนักเขียนที่แต่งงานกับมาริลีน มอนโร ใช่หรือไม่ ผมแน่ใจว่านั่นคือเหตุผลที่เขาปล่อยตัวซอยอินกา" และว่า "ถ้ามาริลีนรู้ เธอคงจะดีใจจนตัวลอย!"

บทละครในยุคหลังของมิลเลอร์ไม่ประสบความสำเร็จนัก ในปี 1967 เขาตีพิมพ์ผลงานเรื่องสั้นชื่อ I Don’t Need You Any More และต่อด้วยการเขียนบทละคร The Price ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ ทว่ากลับได้รับเสียงตอบรับจากคนดูน้อยมาก นอกจากนี้ยังมีบทละครตามมาจากนั้นอีกหลายเรื่องที่ไม่ประสบความสำเร็จในอเมริกา แต่กลับได้รับความนิยมในยุโรป อย่างเช่น The Archbishop’s Ceiling (1976) และThe American Clock (1980) ซึ่งรำลึกถึงการต่อสู้ของครอบครัวของเขาในช่วงยุคเศรษฐกิจตกต่ำ

มิลเลอร์ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้งในอเมริกาจากบทละครทีวีในปี 1980 Playing for Time ที่ดัดแปลงจากหนังสือของ ฟาเนีย เฟเนลอน ผู้รอดชีวิตจากค่ายนรกเอาช์วิตซ์ด้วยการสีไวโอลินให้ความสำราญกับพวกนาซี

หลังจากหย่าขาดจากมอนโร เขาแต่งงานใหม่กับ อิงเก โมราธ ช่างภาพเชื้อสายออสเตรียทันที ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกันหนึ่ง และได้ออกหนังสือที่เขียนร่วมกันหลายเล่ม อาทิ In Russia (1969) In The Country (1977) Chinese Encounters (1979) และSalesman In Beijing (1984)

โมราธเสียชีวิตไปเมื่อสามปีที่แล้ว ส่วนมิลเลอร์ในบั้นปลายชีวิตก่อนจะจากไปก็ยังคงมีเพื่อนใจคนใหม่เป็นจิตรกรสาวคือ แอกเนส บาร์เลย์ ซึ่งเขาได้พบหลังการตายของภรรยาเพียงไม่นาน

ช่วงปลายทศวรรษที่แปดสิบ หลังการตีพิมพ์อัตชีวประวัติของเขา เขาให้สัมภาษณ์ถึงเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาว่า "ผมคิดอยู่ตลอดเวลาว่าผมสูญเสียเวลาไปกับโรงละครมากมายเพียงไร นั่นก็ด้วยเหตุผลว่าถ้าคุณเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเสร็จ คุณก็ทำเพียงบรรจุแล้วก็ส่ง" เขากล่าว "แต่ในโรงละคร คุณต้องใช้เวลากำกับนักแสดงเป็นเวลาหลายๆ เดือน เพื่อจะเอาคนดูให้อยู่ภายในครึ่งชั่วโมง ซึ่งขณะนั้นแหละที่ผมจะได้ชื่นชมมันมากกว่าหนึ่งครั้ง"
เมื่อถูกถามว่า เขาอยากเป็นที่จดจำในฐานะใดมากที่สุด เขาตอบอย่างไม่ลังเลว่า...

"นักแต่งบทละคร... นั่นคือความหวังทั้งปวงของผม" 0

-ล้อมกรอบท้ายเรื่อง-

หมายเหตุ : ข้อมูลในการเรียบเรียงบางส่วนอ้างอิงจาก "คนกับหนังสือ : อาร์เธอร์ มิลเลอร์ ละครควรทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์มากขึ้น" เขียนโดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ สนพ.สารคดี ปี 2536

Comments: Post a Comment



<< Home

This page is powered by Blogger. Isn't yours?