Tuesday, March 14, 2006

 

รู้จักอาการสมาธิสั้น

ถ้าลูกหรือหลานของคุณเป็นเด็กที่ซนมาก ชนิดที่อยู่ไม่สุข ต้องวิ่ง ปีน ป่าย เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาแล้วล่ะก็ บางครั้งพฤติกรรมเหล่านี้อาจจะไม่ใช่ความซนธรรมดาก็ได้ค่ะ เพราะปัจจุบันนี้พบว่า ห้องเรียนห้องหนึ่งถ้ามีนักเรียนอยู่ประมาณ 50 คน จะมีเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นอยู่ประมาณ 2-3 คนเลยทีเดียว ส่วนอาการแบบไหนที่จะบ่งบอกว่าเป็นโรคสมาธิสั้นนั้น ชีวจิตหาคำตอบมาให้คุณค่ะ

สมาธิสั้นเกิดจากอะไร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่นภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้อธิบายถึงโรคสมาธิสั้นว่า
โรคสมาธิสั้น คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก (ก่อนอายุ 7 ขวบ) ที่เกิดจากความผิดปกติของสมองซึ่งมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก กลุ่มอาการนี้ประกอบด้วย อาการขาดสมาธิ อาการหุนหันพลันแล่น วู่วาม และอาการซน อยู่ไม่นิ่ง เด็กบางคนอาจจะมีอาการซน และอาการหุนหันพลันแล่น วู่วาม เป็นอาการเด่น ซึ่งมักพบได้บ่อยในเด็กผู้ชายมากกว่า แต่เด็กที่ เป็นโรคสมาธิสั้นบางคนก็อาจจะไม่ซน แต่มีอาการขาดสมาธิเป็นปัญหาหลัก ซึ่งมักพบได้ทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย
ผศ.นพ.ชาญวิทย์ เล่าว่าเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีความบกพร่อง หรือมีปริมาณสารเคมีที่สำคัญบางตัวในสมองน้อยกว่าเด็กปกติ โดยมีกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญ ประมาณ 30 - 40 เปอร์เซ็นต์ของเด็กสมาธิสั้นจะมีสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่งเป็นโรคสมาธิสั้นด้วยหรือมีปัญหาอย่างเดียวกัน ปัจจัยจากการเลี้ยงดู หรือสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยเสริม ที่ทำให้อาการหรือความผิดปกติดีขึ้นหรือแย่ลงแต่ไม่ใช่สาเหตุหลัก มารดาที่ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือถูกสารพิษบางชนิด (เช่น ตะกั่ว) ในระหว่างตั้งครรภ์ จะมีโอกาสมีลูกเป็นโรคสมาธิสั้นสูงขึ้น การวิจัยในปัจจุบันไม่พบว่าการบริโภคน้ำตาลหรือช็อกโกแลตมากเกินไปทำให้เด็กซนมากขึ้น การดูทีวีหรือเล่นวิดีโอเกมมากเกินไปก็ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น


อาการแบบไหน เรียกสมาธิสั้น
1. อาการขาดสมาธิ (attention deficit) เด็กจะมีลักษณะวอกแวกง่าย ขาดความตั้งใจในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ต้องใช้ความคิด เด็กมักจะแสดงอาการเหม่อลอยบ่อยๆ ฝันกลางวัน ทำงานไม่เสร็จ ผลงานมักจะไม่เรียบร้อย ตกๆหล่นๆ ดูเหมือนสะเพร่า ขาดความรอบคอบ เด็กมักจะมีลักษณะขี้ลืม ทำของใช้ส่วนตัวหายเป็นประจำ มีลักษณะเหมือนไม่ฟังเวลาพูดด้วย เวลาสั่งให้เด็กทำงานอะไรเด็กมักจะลืมทำ หรือทำครึ่งๆ กลางๆ อาการขาดสมาธินี้มักจะมีต่อเนื่อง ติดตัวจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่
2. อาการหุนหันพลันแล่น (impulsivity) เด็กจะมีลักษณะวู่วาม ใจร้อน อารมณ์หุนหันพลันแล่น ทำอะไรไปโดยไม่คิดก่อนล่วงหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมา ขาดความระมัดระวัง เช่น วิ่งข้ามถนนโดยไม่มองรถดีๆ ซุ่มซ่าม ทำข้าวของแตกหักเสียหาย เวลาต้องการอะไรก็จะต้องให้ได้ทันที รอคอยอะไรไม่ได้ เวลาอยู่ในห้องเรียนมักจะพูดโพล่งออกมาโดยไม่ขออนุญาตครูก่อน มักตอบคำถามโดยที่ฟังคำถามยังไม่ทันจบ ชอบพูดแทรกเวลาที่คนอื่นกำลังคุยกันอยู่ หรือกระโดดเข้าร่วมวงเล่นกับเด็กคนอื่นโดยไม่ขอก่อน
3. อาการซน (hyperactivity) เด็กจะมีลักษณะซน อยู่ไม่สุข ยุกยิกตลอดเวลา นั่งนิ่งๆ ไม่ค่อยได้ต้องลุกเดิน หรือขยับตัวไปมา ชอบปีนป่าย เล่นเสียงดัง เล่นผาดโผน หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย มักประสบอุบัติเหตุบ่อยๆ จากความซน และความไม่ระมัดระวัง พูดมาก พูดไม่หยุด ชอบแกล้งหรือแหย่เด็กอื่น


หากคุณๆสงสัยว่าลูกหลานเป็นโรคสมาธิสั้น อย่านิ่งนอนใจนะคะ รีบไปพบแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ เพื่อคุณหมอจะได้ให้การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำถามน่ารู้ของโรคสมาธิสั้น
ฟังมาถึงตรงนี้คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นโรคสมาธิสั้น อาจจะมีคำถามบางอย่างที่ยังสงสัย ดังนั้นเรามีคำตอบจาก ผศ.นพ.ชาญวิทย์ มาฝากกันค่ะ

1. เมื่อโตขึ้นเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีโอกาสหายหรือไม่ เมื่อผ่านช่วงวัยรุ่น ประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ ของเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากโรคนี้ และสามารถเรียนหนังสือหรือทำงานได้ตามปกติ โดยไม่ต้องรับประทานยา ส่วนใหญ่ของเด็กสมาธิสั้นจะยังคงมีความบกพร่องของสมาธิอยู่ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าเด็กดูเหมือนจะซนน้อยลง และมีความสามารถในการควบคุมตนเองดีขึ้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนหากสามารถปรับตัวและเลือกงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมากนัก ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ บางคนอาจจะยังคงมีอาการของโรคสมาธิสั้นอยู่มาก ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการศึกษาต่อ การงาน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น เด็กสมาธิสั้นที่อาการยังไม่หายเมื่อโตขึ้นจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่อง
2. ผู้ใหญ่มีสิทธิที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นได้หรือไม่ และจะมีลักษณะหรืออาการอย่างไรบ้างโรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคที่เกิดเฉพาะกับเด็ก หรือพบได้เฉพาะในวัยเด็กเท่านั้น ปัจจุบันพบว่ามีผู้ใหญ่หลายๆคนที่มีปัญหานี้และทำให้ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ลักษณะของผู้ใหญ่สมาธิสั้น
· มีประวัติบ่งชี้ถึงโรคสมาธิสั้นตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก เช่น ตอนเล็กๆมีพฤติกรรมซน อยู่ไม่นิ่ง ไม่ตั้งใจเรียน วอกแวกง่าย เรียนหนังสือไม่ดี ฯลฯ
· ใจร้อน โผงผาง
· อารมณ์ขึ้นลงเร็ว (โกรธง่ายหายเร็ว)
· หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่คิดก่อนทำ
· ทนกับความเครียดหรือสิ่งที่ทำให้คับข้องใจได้น้อย
· วอกแวกง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิระหว่างการทำงาน
· รอคอยอะไรนานๆ ไม่ค่อยได้
· มักจะทำงานหลายๆชิ้นในเวลาเดียวกัน แต่มักจะทำไม่สำเร็จสักชิ้น
· ไม่รู้จักแบ่งเวลา ขาดความสามารถในการบริหารจัดการเวลาที่ดี
· ชอบผัดวันประกันพรุ่ง
· นั่งอยู่นิ่งๆไม่ได้นาน ชอบเขย่าขาหรือลุกเดินบ่อยๆ
· เบื่อง่าย หรือต้องการสิ่งเร้าอยู่เสมอ
· ไม่มีระเบียบ บ้านรกรุงรัง
· เปลี่ยนงานบ่อย เนื่องจากความผิดพลาดในการทำงานที่เกิดจากความสะเพร่า ไม่เอาใจใส่
· มาสาย ผิดนัด หรือลืมทำเรื่องสำคัญๆ อยู่เสมอ
· มีปัญหากับบุคคลรอบข้าง เช่น สามี ภรรยา ญาติพี่น้อง หัวหน้าหรือผู้ร่วมงานอยู่บ่อยๆ

Thursday, February 16, 2006

 

BBC. Thai


บทวิทยุฉบับแรกที่ออกอากาศทางวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย ค่ำวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2484
เนื้อหาของบทวิทยุฉบับแรกที่ออกอากาศทางบีบีซีภาคภาษาไทย ต้นฉบับตัวจริงสูญหายไป แต่อาจารย์เสนาะ ตันบุญยืน ผู้ประกาศคนแรก กรุณาเขียนให้ใหม่จากบันทึกที่เก็บรวบรวมไว้

การเดินทางมายุโรป

สวัสดีครับ

การเดินทางของพวกเรา 7 คนออกจะแปลกกว่านักเรียนไทยรุ่นก่อน ผมจำได้ว่าก่อนที่ผมมา ได้เคยไปส่งคุณพร ศรีจามรที่ท่าเรือวัดพระยาไกร ลงเรือสินค้าของบริษัทอีสต์เอเชียติคส์ซึ่งนอกจากจะขนไม้สักและข้าวสารกับเครื่องเทศมาประเทศเดนมาร์กแล้ว ก็ยังมีดาดฟ้าแบ่งเป็นห้องนอนผู้โดยสารได้ประมาณ 30 คน

พวกที่เคยมากันแบบนี้มาบ่นให้ฟังว่าเรือพวกนี้ต้องมาจอดที่เกาะสีชังตั้งเกือบอาทิตย์หนึ่งเพื่อขนสินค้าลงเรือให้ครบจำนวน เพราะถ้าเอาไปลงที่ท่าเรือวัดพระยาไกรแล้ว เรือจะผ่านสันดอนที่ปากแม่น้ำไม่ได้ การมาติดอยู่ที่เกาะสีชังนี้ทำให้พวกเราเศร้ามากเพราะมองเห็นเมืองไทยโดยเฉพาะพระเจดีย์กลางน้ำทุกวัน แต่ไม่สามารถติดต่อญาติพี่น้องได้

พวกเราดูเหมือนจะเป็นพวกแรกที่ร่ำลาพ่อแม่พี่น้องและเพื่อนๆที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เนื่องจากเรามากัน 7 คน พวกที่มาส่งจึงมายืนกันล้นหลามตลอดชานชาลาข้างรถไฟด่วนสายใต้ พอถึงเวลา 16.00 น. รถไฟก็ค่อยๆเคลื่อนออกจากสถานี เราต่างคนต่างก็ไปยืนริมประตูหน้าต่าง โบกไม้โบกมืออำลากันจนถึงนาทีสุดท้าย

วันรุ่งขึ้น เมื่อรถไฟเข้าเทียบชานชาลาสถานีเมืองปีนัง ก็มีเจ้าหน้าที่สถานกลสุลไทยมาคอยรับ พาไปส่งที่โรงแรม แล้วก็บอกให้รู้ว่าจะต้องรอเรือโดยสารที่จะมาจากญี่ปุ่นอีก 5 วันข้างหน้า ญี่ปุ่นมีเรือโดยสารขนาดใหญ่กว่าเรืออีสต์เอเชียติคส์มาก ทำให้พวกที่กลัวเมาคลื่นสบายใจกันเพราะเป็นที่รู้กันมาแล้วว่าระหว่างเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่เรือจะต้องผ่านมหาสมุทรอินเดีย อาจมีมรสุมและพายุฝนผ่านมาซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น

พวกเราออกเดินทางจากกรุงเทพฯวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 แล้วขึ้นเรือโดยสาร สุวามารู ที่ปีนังวันที่ 19 พฤษภาคม ใช้เวลาเดินทางเดือนหนึ่งกับ 4 วันจึงเข้าเทียบท่าเมืองมาเซลล์ตอนใต้ฝรั่งเศส ระหว่างทาง เราเจอพายุจัด 2 ครั้ง ทำให้คนโดยสารที่เคยมากันเต็มห้องรับประทานอาหารร่อยหรอไปมาก

สำหรับพวกเรา 7 คนก็ต้องมีการจัดหน่วยบริการ คอยหยอดข้าวหยอดน้ำให้แก่พวกที่โงหัวไม่ขึ้นหลายคน แต่เคราะห์ดีที่ว่าเรามีหมอมาด้วยสองคนคือหมออำนวย เสมรสุต และหมอสงวน โรจนวงศ์ คอยประคับประคองให้ยาที่เอาติดตัวมาด้วย ทำให้อาการเมาคลื่นหายเร็วขึ้น

ที่เมืองมาเซลล์ ก็มีเจ้าหน้าที่สถานกงสุลไทยมารับที่ท่าเรือเช่นกันแต่เจ้าหน้าที่เป็นชาวฝรั่งเศส เคราะห์ดีที่เรามีคุณกนต์ธีร์ ศุภมงคล ที่จบจากโรงเรียนอัสสัมชัญภาษาฝรั่งเศสก่อนไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ คุณกนต์ธีร์เป็นคนเดียวที่จะลงที่ปารีสเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยที่นั่น เราจึงมีล่ามประจำคณะระหว่างที่เดินทางโดยรถไฟไปปารีส พักอยู่ที่นั่น 4-5 วัน แล้วก็ขึ้นรถไฟข้ามช่องแคบอังกฤษ มาถึงกรุงลอนดอนตอนปลายเดือนมิถุนายน

ตั้งแต่ขึ้นบกที่เมืองมาเซลล์แล้วเดินทางข้ามทวีปยุโรปมาลอนดอน เราก็ได้เห็นว่าบ้านส่วนใหญ่นั้นปลูกติดๆกันอย่างห้องแถว แต่ละบ้านมีปล่องไฟพ่นควันดำๆออกมา ระหว่างทางมีบ้านใหญ่ๆตั้งอยู่โดดเดี่ยวหลายแห่ง มีทุ่งนาและฟาร์มเลี้ยงวัวเลี้ยงแกะเป็นระยะๆ แกะที่นี่มีขนปุกปุย ทราบว่าถึงแม้จะเข้าฤดูใบไม้ผลิแล้ว แกะเหล่านั้นก็ยังต้องรอไปจนถึงเดือนกรกฎาหรือสิงหา ก่อนที่เจ้าของจะให้คนมาตัดขนออกหมด

ดูเหมือนว่าคนไทยทั้งประเทศอังกฤษมีไม่ถึง 200 คน สำหรับกรุงลอนดอนก็มีเพียง 10 กว่าคนเท่านั้น พอข่าวว่าจะมีคนไทยมาใหม่พร้อมๆกันถึง 5 คน พวกที่อยู่ก่อนก็ตื่นเต้นเพราะกว่าจดหมายจะมาถึงที่นี่จากเมืองไทยก็ใช้เวลากว่า 2 เดือน

สมาคมนักเรียนไทยในลอนดอนจัดงานพบปะกันทุกเดือน ก็เลยชวนพวกเรามาร่วมด้วย ขอให้เล่าเรื่องต่างๆซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีนักเรียนไทยหลายคนที่มาเรียนตั้งแต่เล็กๆ พูดภาษาไทยไม่ค่อยชัด มักจะต้องใช้ภาษาอังกฤษผสมไปด้วย ทำให้พวกเราที่พึ่งมาต้องใช้เวลาคิดหาคำตอบกันนานสักหน่อยอย่างเช่นที่เราประสบมาแล้วในเรือเพราะเจ้าพนักงานญี่ปุ่นทุกคนมีภาษาอังกฤษแบบของญี่ปุ่น ทั้งๆที่เราต่างก็เคยมีอาจารย์ชาวอังกฤษและอเมริกัน แต่มาประสบภาษาอังกฤษแบบญี่ปุ่นเข้า เราก็ตกตะลึงไปตามๆกัน

หลังจากที่ทุกคนได้รายงานตัวกับผู้ดูแลนักเรียนและเอกอัครราชทูตแล้ว ก็แยกย้ายไปอยู่กันตามเมืองต่างๆ เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยเดือนตุลาคม ผมเองถูกส่งให้ไปอยู่กับครอบครัวอังกฤษที่เมืองเซาท์ซี เมืองชายทะเลตอนใต้ใกล้ๆกับท่าเรือปอร์ตสมัทตลอดฤดูร้อน ซึ่งผมจะนำมาเล่าให้ท่านฟังคราวหน้า

Tuesday, January 31, 2006

 

ชื่อเรื่อง.... อวสานตำนานบทละครผู้ยิ่งใหญ่



อาร์เธอร์ มิลเลอร์
ในที่สุดโลกก็ได้สูญเสียนักเขียนบทละครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งไปแล้ว นั่นคือ อาร์เธอร์ มิลเลอร์ วัย 89 ปี ผู้ละสังขารจากไปอย่างสงบ ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เนื่องจากเส้นโลหิตอุดตัน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา(2005) ทิ้งไว้เพียงตำนานบทละครอันยืนยง

อาร์เธอร์ มิลเลอร์ คือนักเขียนผู้ใช้บทละครเป็นสื่อในการปลุกจิตสำนึกของผู้คนในสังคม และเป็นผู้ประพันธ์บทละครที่เรียกได้ว่าเป็นหมุดหมายหนึ่งของการละครในศตวรรษที่ 20 นั่นคือ Death of A Salesman หรือ "อวสานเซลส์แมน" ซึ่งกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวในยุค "ฉันจึงมาหาความหมาย" อันประกอบด้วยผู้ที่กลายมาเป็นนักเขียน นักการละคร และผู้กำกับภาพยนตร์ในปัจจุบันอย่าง สุชาติ สวัสดิ์ศรี, รัศมี เผ่าเหลืองทอง, คำรณ คุณะดิลก, วีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์ และยุทธนา มุกดาสนิท เคยนำบทละครเรื่องนี้มาแสดงจนโด่งดัง กลายเป็นตำนานละครเวทีหน้าหนึ่งของบ้านเราไปเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว

บทละครเรื่อง "อวสานเซลส์แมน" ซึ่งเปิดแสดงที่บรอดเวย์เมื่อปี 1949 ได้ส่งผลให้มิลเลอร์กลายเป็นพี่เบิ้มแห่งวงการละครเวทีอเมริกาไปในทันที และสามารถคว้าสามรางวัลสุดยอดของการละครในปีนั้น ทั้งพูลิตเซอร์ ไพรซ์, นิวยอร์ก ดรามา คริติคส์ เซอร์เคิล อวอร์ด และเดอะ โทนี มาครอบครองได้อย่างสง่างาม ในขณะที่เขามีอายุเพียงแค่ 33 ปี

โรเบิร์ต ไวท์เฮด โปรดิวเซอร์แห่งโรงละครบรอดเวย์ ผู้มีโอกาสทำงานร่วมกับมิลเลอร์บ่อยครั้ง กล่าวถึงบทละครของเขาว่า "ในเนื้องานของมิลเลอร์ กอปรด้วยจิตสำนึกอันเป็นประทีปส่องสว่างให้แก่โลก" และ"ตลอดทั้งชีวิตเขาแสวงหาคำตอบกับสิ่งที่เขามองเห็นอยู่รายรอบตัวว่าเป็นความอยุติธรรมของโลก"

อาร์เธอร์ มิลเลอร์ เกิดเมื่อปี 1915 ในมหานครนิวยอร์ก ศูนย์กลางละครเวทีของโลกเป็นบุตรชาวยิว เจ้าของโรงงานผลิตเสื้อโค้ตผู้มั่งคั่ง วัยเด็กของเขาจึงเปี่ยมไปด้วยความสุขล้นเหลือ อย่างที่เขาเขียนไว้ใน Timebends : A Life อัตชีวประวัติของเขาว่า "ชีวิตคลี่เผยให้ผมเห็น ราวกับเป็นหนังสือม้วนที่มีแต่ข้อความอันน่าตื่นเต้น และเต็มไปด้วยข่าวดี"

แต่แล้วภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ในอเมริกาก็พลิกชีวิตของเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อกิจการของครอบครัวเขาต้องล้มครืน เขาต้องออกหางานทำเพื่อจุนเจือครอบครัวอีกแรงด้วยการเป็นเด็กส่งขนมปัง ประสบการณ์ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตนี้ได้กลายมาเป็นแก่นเรื่องที่สะท้อนอยู่ในงานหลายๆ ชิ้นของเขา ไม่ว่าจะเป็น "อวสานเซลส์แมน" The Price ไปจนถึง After The Fall, The American Clock และA Memory of Two Mondays

หลังจบชั้นไฮสกูลในปี 1932 เขาทำงานในโกดังอะไหล่รถยนต์เพื่อเก็บเงินเรียนต่อมหาวิทยาลัย มิลเลอร์ เคยกล่าวไว้ว่า เขาไม่ได้เรียนได้ดีเด่นอะไรนัก แต่เขารู้ว่าเขาต้องการจะเป็นนักเขียน เขาเล่าว่าเมื่อตอนอายุ 16 เขากลายเป็นจุดสนใจของเพื่อนๆ เนื่องจากความเป็นนักเล่าเรื่องของเขา

เมื่อเก็บออมเงินได้พอเพียงสำหรับการเข้าเรียนปีหนึ่งที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนแล้ว เขาตั้งความหวังว่าเขาจะสามารถเขียนบทละครที่ดี เพื่อคว้ารางวัล Avery Hopwood Award อันเป็นรางวัลที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยได้ โดยจุดประสงค์หลักของเขาคือต้องการเงินรางวัลเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อปีสอง
อย่างไรก็ดี เขาไม่สามารถทำได้ตามความตั้งใจในปีหนึ่ง แต่ประสบผลสำเร็จในปีต่อมา และกลายเป็นจุดเริ่มต้นอันมั่นใจที่จะก้าวไปสู่การนักเขียนบทละคร ทว่าบทละครในช่วงแรกของเขาหลังจบการศึกษาถูกปฏิเสธจากผู้อำนวยการสร้างเกือบหมด ยกเว้นอยู่เรื่องเดียวคือ The Man Who Had All the Luck ที่เปิดแสดงเพียงสี่รอบบนเวทีบรอดเวย์ในปี 1944

ปี 1940 มิลเลอร์สมรสกับอดีตเพื่อนนักศึกษา แมรี เกรซ สแลตเทอรี และมีบุตรด้วยกันสองคน เขาหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำงานเขียนบทละครวิทยุ และพยายามเขียนบทละครอยู่เรื่องหนึ่ง "ผมวางเดิมพันกับตัวเอง" เขาเขียนไว้ในอัตชีวประวัติ "ผมจะเก็บบทละครนี้จนกว่าจะแน่ใจว่าทุกๆ หน้าของมันเคี่ยวข้นสมบูรณ์แบบ แล้วจากนั้น หากว่าสิ่งที่ผมคิดมันผิด ผมก็จะหันหลังให้กับโรงละคร ไปเขียนแนวอื่นเสีย"

บทละครที่ว่านี้คือ All My Sons ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสิบบทละครยอดเยี่ยมของปี 1947 และคว้าสองรางวัล ได้แก่ โทนี อวอร์ด และนิวยอร์ก ดรามา คริติคส์ เซอร์เคิล อวอร์ด นั่นคือก้าวแรกของการเป็นนักเขียนบทละครอาชีพอย่างเต็มตัว และจากความสำเร็จนี้ได้เปิดโอกาสให้เขามีเวลาซุ่มเขียนบทละครเรื่องที่กลายเป็นตำนานของวงการละครมาจนทุกวันนี้ นั่นคือ "อวสานเซลส์แมน"

อวสานเซลส์แมน บทละครสะท้อนมายาภาพของความฝันแบบอเมริกันที่เข้าไปปลุกสำนึกอเมริกันชนให้ตื่นฟื้นขึ้นมาเผชิญกับความเป็นจริง ได้สร้างประวัติศาสตร์ของบรอดเวย์ที่ละครเรื่องหนึ่งสามารถกวาดมาได้ทั้งสามรางวัลใหญ่ บทละครเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 29 ภาษา เปิดแสดงไปทั่วโลก แม้กระทั่งที่ปักกิ่ง เฉพาะที่บรอดเวย์เปิดแสดงทั้งสิ้นรวม 742 รอบ

ต่อมาในปี 1950 มิลเลอร์ได้ดัดแปลงบทละครเรื่อง "ศัตรูของประชาชน" หรือ An Enemy of the People ของ อิบเสน นักเขียนบทละครชื่อดังชาวนอร์เวย์ที่เขายกย่องเป็นครูของเขา และนำมาเปิดแสดงที่บรอดเวย์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ละครเรื่องนี้ ซึ่งมีตัวเอกเผชิญกับแรงกดดันให้คล้อยตามกับอุดมการณ์แห่งยุคสมัย คือสิ่งที่มิลเลอร์พยายามสะท้อนสภาวะความไร้เสรีภาพภายใต้ยุคนายพลแมคคาร์ธี

บทละครเรื่องต่อมาที่มีลักษณะต่อต้านลัทธิแมคคาร์ธีเช่นเดียวกันกับ "ศัตรูของประชาชน" คือ The Crucible หรือ "หมอผีครองเมือง" มิลเลอร์เขียนบทละครนี้จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์การปราบปรามผู้ที่เชื่อกันว่าเป็นแม่มดในเมืองซาเล็ม ในศตวรรษที่ 17 และละครเรื่องนี้ ซึ่งบางคนมองว่าเป็นการมุ่งประณามส่วนบุคคลก็ได้กลายเป็นต้นเหตุของการแตกหักกับอีเลีย คาซาน ผู้กำกับคู่ใจของเขา เนื่องจากคาซานได้ตัดสินใจขายชื่อเพื่อนให้กับสภาคณะกรรมการการกระทำอันไม่เป็นอเมริกัน (House Un-American Activities Committee หรือพูดง่ายๆ คือหน่วยกำจัดคอมมิวนิสต์ คล้ายกับ กอ.รมน.บ้านเราในยุคหนึ่งนั่นเอง)

ละคร "หมอผีครองเมือง" ซึ่งได้ผู้กำกับคนใหม่มาไม่ประสบความสำเร็จ แม้มิลเลอร์จะนำมาทำใหม่อีกรอบ แทรกบทที่ถูกตัดออก แต่ผลตอบรับก็ยังเช่นเดิม ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองอันตึงเครียดในยุคนั้น อย่างไรก็ดี บทละครเรื่องนี้ได้คว้ารางวัลโทนีอวอร์ดในปี 1953 และกลายเป็นผลงานที่ถูกนำมาสร้างบ่อยครั้งที่สุดของเขา มิลเลอร์ เขียนไว้ว่า "ผมแทบจะบอกได้เลยว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศนั้นเป็นเช่นไร หากบทละครเรื่องนี้เป็นที่นิยมในประเทศนั้นๆ"
มิลเลอร์ เล่าถึงเจตนารมณ์ของการเขียน "หมอผีครองเมือง" ไว้ว่า เขาหวังว่าบทละครเรื่องนี้จะถูกมองในฐานะเครื่องยืนยันการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เพื่อดำรงไว้ซึ่งจิตสำนึกของปัจเจกชน เขาเคยให้สัมภาษณ์ด้วยความภาคภูมิใจในปี 1987 ว่า "ผมตื้นตันใจมากที่ รอยัล เชคสเปียร์ คอมพานี นำมาสร้างใหม่อีกครั้ง และตระเวนแสดงตามมหาวิหารในอังกฤษ และที่โปแลนด์ นักแสดงบอกว่ามันเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาเลย เจ้าหน้าที่รัฐน้ำตาซึม พวกเขาพูดไม่ออกหลังละครแสดงจบ ทุกคนรู้ว่าทำไม เพราะเขาต้องสะกดกลั้นกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากละคร นั่นคือสิ่งที่ผมภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต พันธกิจของการละครก็คือ ต้องเปลี่ยนและปลุกจิตสำนึกของผู้คนให้ถึงความเป็นมนุษย์มากที่สุด"

ทว่าในปี 1956 มิลเลอร์เองถูกเชิญตัวไปให้ปากคำกับสภาคณะกรรมการการกระทำอันไม่เป็นอเมริกัน ในขณะนั้นความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างเขากับมาริลีน มอนโร ดาราสาวที่เจิดจรัสอยู่ในฮอลลีวู้ดนั้นกำลังเป็นที่ฮือฮา และทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่โด่งดังเสียยิ่งกว่าการได้รับรางวัลใดๆ เสียอีก
ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นเป้าสนใจของมหาชนเป็นอย่างยิ่ง และประจวบกับเป็นยุคตกต่ำของคณะกรรมการนี้ด้วย มิลเลอร์ได้รับเสียงปรบมือชื่นชมไปทั่ว เมื่อเขาปฏิเสธที่จะระบุชื่อนักเขียนที่เขาพบในการประชุมนักเขียนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งนับเป็นการกระทำอันกล้าหาญภายใต้บรรยากาศยุคนั้นอันมีแต่ความหวาดกลัว

บรุค แอตคินสัน นักวิจารณ์ชื่อดังแห่งเดอะไทม์ส เขียนไว้เมื่อปี 1957 เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ว่า "เขาปฏิเสธที่จะเป็นสาย เขาปฏิเสธที่จะเปลี่ยนจิตสำนึกปัจเจกไปเป็นการรับใช้รัฐ เขาถูกตั้งข้อหาว่าหมิ่นประมาทสภาคองเกรส นั่นคือเครื่องสะท้อนความชายคนนี้ ผู้เป็นเจ้าของบทละครที่กอปรด้วยสำนึกอันสูงส่ง ได้เป็นอย่างดี" และสองปีต่อมาศาลก็สั่งยกฟ้องข้อกล่าวหาเขา

ปี 1956 แม้จะอยู่ในช่วงของการมีคดีที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล มิลเลอร์ยังเดินเข้าสู่ประตูวิวาห์อีกครั้งกับ มาริลีน มอนโร หลังจากทั้งคู่หย่ามาเรียบร้อยกับคู่รักเดิมของตัว มิลเลอร์แทบมิได้เอ่ยถึงสี่ปีแห่งชีวิตสมรสครั้งใหม่ของเขาเลยในอัตชีวประวัติ นอกจากบทภาพยนตร์เรื่อง Misfits ที่เขาบอกว่าเขียนเป็นของขวัญแด่คนรักของเขา ผู้ที่ต้องทุกข์ทรมานจากอาการประสาทหลอนและการติดยานอนหลับ ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉายในปี 1961 เพียงไม่นานหลังจากการสิ้นสุดชีวิตคู่ลงด้วยการหย่า หนึ่งปีต่อมามิลเลอร์ก็แต่งงานใหม่ และหกเดือนจากนั้นมอนโรเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาด

หลังการตายของมอนโร After the Fall อันเป็นบทละครที่เปิดเผยชีวิตส่วนตัวของมิลเลอร์มากที่สุด ออกสู่สายตาสาธารณชนในปี 1964 บทละครเรื่องนี้ ซึ่งเขียนขึ้นหลังการอับปางของชีวิตคู่ สะท้อนนัยการพยายามทำความเข้าใจของเขากับความรับผิดชอบต่อมอนโรต่อความไม่สามารถจะรับมือกับมรสุมชีวิตของเธอ และต่อความล้มเหลวที่จะช่วยเธอ

ในปี 1965 มิลเลอร์รับตำแหน่งประธาน PEN สากล อันเป็นองค์กรช่วยเหลือกวี นักเขียน บรรณาธิการทั่วโลกในด้านสิทธิมนุษยชน ในยุคที่เขาเป็นประธานนี้มีการเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิของนักเขียนอย่างคึกคัก ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่เขาชอบรำลึกถึงเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการได้มีส่วนช่วยชีวิตนักเขียนแห่งกาฬทวีปผู้หนึ่ง ซึ่งต่อมากลายเป็นนักเขียนรางวัลโนเบล นั่นคือ โวเล ซอยอินกา ในปี 1966 เขาส่งสาส์นฉบับหนึ่งถึงนายพลยากูบู โกวอน ผู้กำลังจะโค่นล้มรัฐบาลไนจีเรีย เพื่อขอไว้ชีวิตให้กับซอยอินกา นักเขียนที่กำลังจะเข้าสู่แดนประหาร มิลเลอร์ เขียนเล่าไว้ว่า เมื่อท่านนายพลเห็นชื่อเขา "เขาเอ่ยถามด้วยความไม่อยากเชื่อว่าผมคือนักเขียนที่แต่งงานกับมาริลีน มอนโร ใช่หรือไม่ ผมแน่ใจว่านั่นคือเหตุผลที่เขาปล่อยตัวซอยอินกา" และว่า "ถ้ามาริลีนรู้ เธอคงจะดีใจจนตัวลอย!"

บทละครในยุคหลังของมิลเลอร์ไม่ประสบความสำเร็จนัก ในปี 1967 เขาตีพิมพ์ผลงานเรื่องสั้นชื่อ I Don’t Need You Any More และต่อด้วยการเขียนบทละคร The Price ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ ทว่ากลับได้รับเสียงตอบรับจากคนดูน้อยมาก นอกจากนี้ยังมีบทละครตามมาจากนั้นอีกหลายเรื่องที่ไม่ประสบความสำเร็จในอเมริกา แต่กลับได้รับความนิยมในยุโรป อย่างเช่น The Archbishop’s Ceiling (1976) และThe American Clock (1980) ซึ่งรำลึกถึงการต่อสู้ของครอบครัวของเขาในช่วงยุคเศรษฐกิจตกต่ำ

มิลเลอร์ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้งในอเมริกาจากบทละครทีวีในปี 1980 Playing for Time ที่ดัดแปลงจากหนังสือของ ฟาเนีย เฟเนลอน ผู้รอดชีวิตจากค่ายนรกเอาช์วิตซ์ด้วยการสีไวโอลินให้ความสำราญกับพวกนาซี

หลังจากหย่าขาดจากมอนโร เขาแต่งงานใหม่กับ อิงเก โมราธ ช่างภาพเชื้อสายออสเตรียทันที ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกันหนึ่ง และได้ออกหนังสือที่เขียนร่วมกันหลายเล่ม อาทิ In Russia (1969) In The Country (1977) Chinese Encounters (1979) และSalesman In Beijing (1984)

โมราธเสียชีวิตไปเมื่อสามปีที่แล้ว ส่วนมิลเลอร์ในบั้นปลายชีวิตก่อนจะจากไปก็ยังคงมีเพื่อนใจคนใหม่เป็นจิตรกรสาวคือ แอกเนส บาร์เลย์ ซึ่งเขาได้พบหลังการตายของภรรยาเพียงไม่นาน

ช่วงปลายทศวรรษที่แปดสิบ หลังการตีพิมพ์อัตชีวประวัติของเขา เขาให้สัมภาษณ์ถึงเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาว่า "ผมคิดอยู่ตลอดเวลาว่าผมสูญเสียเวลาไปกับโรงละครมากมายเพียงไร นั่นก็ด้วยเหตุผลว่าถ้าคุณเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเสร็จ คุณก็ทำเพียงบรรจุแล้วก็ส่ง" เขากล่าว "แต่ในโรงละคร คุณต้องใช้เวลากำกับนักแสดงเป็นเวลาหลายๆ เดือน เพื่อจะเอาคนดูให้อยู่ภายในครึ่งชั่วโมง ซึ่งขณะนั้นแหละที่ผมจะได้ชื่นชมมันมากกว่าหนึ่งครั้ง"
เมื่อถูกถามว่า เขาอยากเป็นที่จดจำในฐานะใดมากที่สุด เขาตอบอย่างไม่ลังเลว่า...

"นักแต่งบทละคร... นั่นคือความหวังทั้งปวงของผม" 0

-ล้อมกรอบท้ายเรื่อง-

หมายเหตุ : ข้อมูลในการเรียบเรียงบางส่วนอ้างอิงจาก "คนกับหนังสือ : อาร์เธอร์ มิลเลอร์ ละครควรทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์มากขึ้น" เขียนโดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ สนพ.สารคดี ปี 2536

Friday, January 13, 2006

 

My fellow Americans


This is the famous letter that Ronald Reagan read to the nation when he announced he had Alzheimer's disease in 1994.

My fellow Americans,

I have recently been told that I am one of the millions of Americans who will be afflicted with Alzheimer's disease.

Upon learning this news, Nancy and I had to decide whether as private citizens we would keep this a private matter or whether we would make this news known in a public way. In the past, Nancy suffered from breast cancer and I had my cancer surgeries. We found through our open disclosures we were able to raise public awareness. We were happy that as a result, many more people underwent testing. They were treated in early stages and able to return to normal, healthy lives.

So now we feel it is important to share it with you. In opening our hearts, we hope this might promote greater awareness of this condition. Perhaps it will encourage a clearer understanding of the individuals and families who are affected by it.

At the moment I feel just fine. I intend to live the remainder of the years God gives me on this Earth doing the things I have always done. I will continue to share life's journey with my beloved Nancy and my family. I plan to enjoy the great outdoors and stay in touch with my friends and supporters.

Unfortunately, as Alzheimer's disease progresses, the family often bears a heavy burden. I only wish there was some way I could spare Nancy from this painful experience. When the time comes, I am confident that with your help she will face it with faith and courage.

In closing, let me thank you, the American people, for giving me the great honor of allowing me to serve as your president. When the Lord calls me home, whenever that day may be, I will leave with the greatest love for this country of ours and eternal optimism for its future.

I now begin the journey that will lead me into the sunset of my life. I know that for America there will always be a bright dawn ahead.

Thank you, my friends. May God always bless you.
Sincerely,
Ronald Reagan

 

ตะปู

”ความโกรธ กับคําสอนของพ่อ”

มีเด็กน้อยคนหนึ่งที่สีหน้าแสดงอารมณ์ไม่ค่อยจะดีนัก พ่อของเขาจึงให้ตะปูกับเขา หนึ่งถุง และบอกกับเขาว่า
”ทุกครั้งที่เขารู้สึกโมโห หรือโกรธใครสักคน ให้ตอกตะปู 1 ตัวเข้าไปกับรั้วที่หลังบ้าน”

วันแรกผ่านไป เด็กน้อยคนนั้นตอกตะปูเขาไปที่รั้วหลังบ้านถึง 37 ตัว และก็ค่อย ๆ ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ในแต่ละวันที่ผ่านไป ก็ลดจํานวนลง น้อยลง น้อยลง เพราะเขารู้สึกว่า การรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง ให้สงบ ง่ายกว่าการตอกตะปูตั้งเยอะ และแล้วหลังจากที่เขาสามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้น ใจเย็นมากขึ้น เขาจึงเข้าไปพบกับพ่อและบอกกับพ่อของเขาว่า เขาสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้แล้ว ไม่มุทะลุเหมือนแต่ก่อนที่เคยเป็นมา พ่อยิ้ม และบอกกับลูกชายของเขาว่า

”ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงเจ้าต้องพิสูจน์ให้พ่อรู้ โดยทุกๆ ครั้งที่เขาสามารถควบคุมอารมณ์ ฉุนเฉียวของตนเองได้ ให้ถอนตะปูออกจากรั้วหลังบ้าน 1 ตัว ทุกครั้ง”

วันแล้ววันเล่า เด็กน้อยคนนั้นก็ค่อยๆ ถอนตะปูออกทีละตัว จาก 1 เป็น 2 .... จาก 2 เป็น 3 จนในที่สุดตะปูทั้งหมดก็ถูกถอนออก จนหมด เด็กน้อยดีใจมากรีบวิ่งไปบอกกับพ่อเขาว่า

“ฉันทำได้ ในที่สุดฉันก็ทำจนสำเร็จ !!”

พ่อไม่ได้พูดอะไร แต่จูงมือลูกของเขาออกไปที่รั้วหลังบ้าน และบอกกับลูกว่า

“ทำได้ดีมาก ลูกพ่อ และเจ้าลองมองกลับไปที่รั้วเหล่านั้นสิ เจ้าเห็นหรือไม่ว่า รั้วนั้นมันไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือน..กับที่มันเคยเป็น จำไว้นะลูก เมื่อใดก็ตามที่เจ้าทำอะไรลงไปโดยใช้อารมณ์ สิ่งนั้นมันจะเกิดเป็นรอยแผล เหมือนกับการเอามีดที่แหลมคมไปแทงใครสักคน ต่อให้ใช้คำพูด ว่า “ขอโทษ” สักกี่หน ก็ไม่อาจลบความเจ็บปวด ไม่อาจลบรอยแผลที่เกิดขึ้นกับเขาคนนั้นได้ ฉันใดก็ฉันนั้น “กับเพื่อน” .. เพื่อนเปรียบเสมือน อัญมณีอันมีค่าที่หายาก เป็นคนที่ทำให้เรายิ้ม เป็นคนที่คอยให้กำลังใจและยินดีเมื่อเราพบกับความสำเร็จ เป็นคนที่คอยปลอบใจเราเมื่อยามเศร้า ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรา และจริงใจกับเราเสมอ ... แสดงให้เขาเห็นว่าเราห่วงใยเขามากแค่ไหน และระวังสิ่งที่เราทำไป ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำ และจงจดจำไว้เสมอว่า "คำขอโทษ" ไม่ว่าเขาจะยกโทษให้เราหรือไม่ก็ตามแต่สิ่งที่มันเกิดขึ้น คือ รอยร้าวที่เขาคงไม่อาจลืมมันได้ ...... ตลอดไป”

หวังว่านิทานนี้คงช่วยให้พวกเรา อยู่ร่วมกัน ทำงาน ร่วมกัน คบกัน ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกันขึ้นเรื่อยๆ ตลอดไป.....

Wednesday, January 11, 2006

 

ผู้ดี

ผู้ดี
โดยนายอนันต์ ปัญญารชุน

เมื่อมีอะไรที่เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ หรือนักหนังสือพิมพ์ ผมก็มักคิดถึงคุณพ่อเสมอ คุณพ่อของผมเป็นนักหนังสือพิมพ์ เคยทำหนังสือพิมพ์มาแล้วหลายฉบับ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามครอนิเกิล นับเป็นหนังสือพิมพ์ฝรั่งฉบับแรกในเมืองไทยที่มีคนไทยเป็นบรรณาธิการ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และเป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์คนแรก
ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อคุณบัญญัติ ทัศนียะเวช นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย มีหนังสือมาขอบทความเพื่อนำลงพิมพ์ในหนังสือประจำปีของสมาคมฯ ผมได้รับปากไปว่าจะเขียนให้ เมื่อได้รับปากไปแล้ว ผมก็ได้นั่งนึกนั่งคิดถึงเรื่องที่จะเขียน ซึ่งทำให้ผมหวนคิดไปถึงคุณพ่อ คุณพ่อของผมได้เขียนบทความทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษไว้มาก ผมจึงได้ไปค้นหาเอกสารและหนังสือเก่าๆ ของคุณพ่อ เพื่อดูความคิดความเห็นของคุณพ่ออาจจะได้ประเด็นมาเขียนบทความ จึงได้พบบทความชิ้นหนึ่งซึ่งคุณพ่อผมเขียนไว้นานแล้ว เคยตีพิมพ์ซ้ำในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของคุณพ่อ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๑๗ บทความนั้นชื่อ “ผู้ดี” ผมอ่านแล้วบังเกิดความรู้สึกว่าข้อเขียนชิ้นนี้มันช่างตรงกับใจของผมเสียจริงๆ อีกทั้งชื่อของบทความ ก็ช่างใกล้เคียงกับสมญานามที่เพื่อนักหนังสือพิมพ์บางคนตั้งให้ผม คือ “ผู้ดีรัตนโกสินทร์” และ “ผู้ดีมีปัญหา” นอกจากชื่อจะพ้องกันแล้วเนื้อหาก็ยังต่อเกี่ยวเนื่องกับเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ด้วย ผมจึงขอนำบทความนี้มาบรรณาการแด่เพื่อนนักหนังสือพิมพ์แทนข้อเขียนของผม เพราะดูจะเหมาะสมดี เมื่ออ่านบทความดังกล่าวแล้ว เพื่อนนักหนังสือพิมพ์ก็คงประจักษ์เช่นเดียวกับตัวผมว่า ไม่ว่าใครซี่งก็รวมทั้งตัวผม และเพ่อนักหนังสือพิมพ์ต่างก็เป็น “ผู้ดี” ได้เท่าๆ กัน ถ้าหากมีความซื่อตรงต่อหน้าที่ และซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศชาติ ไม่ใช่จะมากะเกณฑ์ให้ผมเป็นคนเดียว และเพื่อที่จะให้ประเทศชาติของเราเจริญรุดหน้า เราจำเป็นต้องมีคนที่เป็น “ผู้ดี” เป็นจำนวนมากๆ ด้วย

บทความที่คุณพ่อผมเขียนมีดังต่อไปนี้ครับ
“ผู้ดีไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหลานผู้มีอำนาจวาสนา หรือผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ หรือผู้ร่ำรวย บุคคลดังกล่าวแล้วนี้เป็น “ผู้เลว” ก็มีถมไป
คำว่าผู้ดี เป็นคำกว้างแทบไม่ต้องอธิบาย ท่านเข้าใจความหมายเป็นอย่างดี ท่านรู้ดีว่าผู้ที่มหาชนนับหน้าถือตานั้น ผู้ไหนเป็นผู้ดี ผู้ดีเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อสังคม และซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ผู้ดีย่อมปฏิบัติทุกสิ่งที่ปวงชนว่าเป็นดีงาม ชาติใดมีผู้ดีอย่างนี้มาก ชาตินั้นก็เจริญ ชาติใดมีผู้ดีอย่างนี้น้อย ชาตินั้นก็เสื่อมโทรม ผู้ดีคนใดหากได้มาซึ่งสิทธิอะไรเป็นพิเศษ ผู้ดีคนนั้นก็สำนึกทันทีว่าเขาจะต้องมีความรับผิดชอบเป็นพิเศษตามมาด้วย
ผมยืนยันว่านักหนังสือพิมพ์จักต้องเป็น “ผู้ดี” เพราะท่านมีสิทธิพิเศษยิ่งกว่าปวงชนธรรมดา ท่านจึงต้องมีความรับผิดชอบเป็นพิเศษเพิ่มขึ้น เมื่อท่านมี หรือได้มาซึ่งสิทธิพิเศษนี้ ในทางที่ดีที่ควร
ขอยกตัวอย่างสักสองอย่างที่ผมกล่าวว่านักหนังสือพิมพ์มีสิทธิพิเศษ

  1. ในที่ประชุมสำคัญ เขาจัดที่นั่งให้ท่านเป็นพิเศษ ไม่ต้องไปปะปนกันกับผู้อื่น ท่านได้ดี ได้ยินชัด เพื่อท่านจะได้ทำหน้าที่ของท่านได้โดยสะดวก หน้าที่อันสำคัญนี้ก็คือ ท่านจะได้เสนอข่าวโดยถูกต้องเที่ยงธรรม ให้มหาชนได้เข้าใจเรื่องราวโดยถูกต้องแจ่มแจ้ง ท่านเสนอข่าวนั้นเพราะท่านได้เห็นมาแก่ตา ไม่ใช่ท่านยกเมฆ ท่านทำหน้าที่ของท่านเป็นอย่างดี ท่านจึงสมควรได้รับสิทธิพิเศษ และท่านก็สำนึกในความรับผิดชอบของท่าน ดังนี้แหละท่านจึงต้องเป็นผู้ดีผู้เจริญ
  2. ท่านมีสิทธิพิเศษสำคัญที่คนอื่นเขาไม่มี คือท่านเขียนลงในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ติชมใครก็ได้ จริงอยู่ท่านทำได้ภายในขอบเขตที่ไม่ถึงหมิ่นประมาท หากบางคราวท่านก็อาจจะล้ำเขตไปบ้าง แต่ผู้ถูกติขี้คร้านไม่อยากที่จะไปก่อความยาวสาวความยืด ท่านเป็นผู้ดีถ้าท่านถือหลักว่าจะชมผู้ที่ควรชม จะสรรเสริญผู้ที่ควรได้รับความสรรเสริญ จะติผู้ที่ควรติ ท่านไม่มีอคติ ท่านทำหน้าที่ของท่านด้วยความซื่อสัตย์ ท่านมิได้หวังอะไรตอบแทนจากผู้หนึ่งผู้ใด ท่านมีสิทธิพิเศษกว่าผู้อื่นแต่ท่านมิได้ใช้สิทธิพิเศษนี้ในทางผิด ท่านสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมและศีลธรรม ดังนี้แหละท่านจึงต้องเป็นผู้ดีผู้เจริญ

This page is powered by Blogger. Isn't yours?