Wednesday, January 11, 2006

 

ผู้ดี

ผู้ดี
โดยนายอนันต์ ปัญญารชุน

เมื่อมีอะไรที่เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ หรือนักหนังสือพิมพ์ ผมก็มักคิดถึงคุณพ่อเสมอ คุณพ่อของผมเป็นนักหนังสือพิมพ์ เคยทำหนังสือพิมพ์มาแล้วหลายฉบับ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามครอนิเกิล นับเป็นหนังสือพิมพ์ฝรั่งฉบับแรกในเมืองไทยที่มีคนไทยเป็นบรรณาธิการ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และเป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์คนแรก
ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อคุณบัญญัติ ทัศนียะเวช นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย มีหนังสือมาขอบทความเพื่อนำลงพิมพ์ในหนังสือประจำปีของสมาคมฯ ผมได้รับปากไปว่าจะเขียนให้ เมื่อได้รับปากไปแล้ว ผมก็ได้นั่งนึกนั่งคิดถึงเรื่องที่จะเขียน ซึ่งทำให้ผมหวนคิดไปถึงคุณพ่อ คุณพ่อของผมได้เขียนบทความทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษไว้มาก ผมจึงได้ไปค้นหาเอกสารและหนังสือเก่าๆ ของคุณพ่อ เพื่อดูความคิดความเห็นของคุณพ่ออาจจะได้ประเด็นมาเขียนบทความ จึงได้พบบทความชิ้นหนึ่งซึ่งคุณพ่อผมเขียนไว้นานแล้ว เคยตีพิมพ์ซ้ำในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของคุณพ่อ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๑๗ บทความนั้นชื่อ “ผู้ดี” ผมอ่านแล้วบังเกิดความรู้สึกว่าข้อเขียนชิ้นนี้มันช่างตรงกับใจของผมเสียจริงๆ อีกทั้งชื่อของบทความ ก็ช่างใกล้เคียงกับสมญานามที่เพื่อนักหนังสือพิมพ์บางคนตั้งให้ผม คือ “ผู้ดีรัตนโกสินทร์” และ “ผู้ดีมีปัญหา” นอกจากชื่อจะพ้องกันแล้วเนื้อหาก็ยังต่อเกี่ยวเนื่องกับเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ด้วย ผมจึงขอนำบทความนี้มาบรรณาการแด่เพื่อนนักหนังสือพิมพ์แทนข้อเขียนของผม เพราะดูจะเหมาะสมดี เมื่ออ่านบทความดังกล่าวแล้ว เพื่อนนักหนังสือพิมพ์ก็คงประจักษ์เช่นเดียวกับตัวผมว่า ไม่ว่าใครซี่งก็รวมทั้งตัวผม และเพ่อนักหนังสือพิมพ์ต่างก็เป็น “ผู้ดี” ได้เท่าๆ กัน ถ้าหากมีความซื่อตรงต่อหน้าที่ และซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศชาติ ไม่ใช่จะมากะเกณฑ์ให้ผมเป็นคนเดียว และเพื่อที่จะให้ประเทศชาติของเราเจริญรุดหน้า เราจำเป็นต้องมีคนที่เป็น “ผู้ดี” เป็นจำนวนมากๆ ด้วย

บทความที่คุณพ่อผมเขียนมีดังต่อไปนี้ครับ
“ผู้ดีไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหลานผู้มีอำนาจวาสนา หรือผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ หรือผู้ร่ำรวย บุคคลดังกล่าวแล้วนี้เป็น “ผู้เลว” ก็มีถมไป
คำว่าผู้ดี เป็นคำกว้างแทบไม่ต้องอธิบาย ท่านเข้าใจความหมายเป็นอย่างดี ท่านรู้ดีว่าผู้ที่มหาชนนับหน้าถือตานั้น ผู้ไหนเป็นผู้ดี ผู้ดีเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อสังคม และซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ผู้ดีย่อมปฏิบัติทุกสิ่งที่ปวงชนว่าเป็นดีงาม ชาติใดมีผู้ดีอย่างนี้มาก ชาตินั้นก็เจริญ ชาติใดมีผู้ดีอย่างนี้น้อย ชาตินั้นก็เสื่อมโทรม ผู้ดีคนใดหากได้มาซึ่งสิทธิอะไรเป็นพิเศษ ผู้ดีคนนั้นก็สำนึกทันทีว่าเขาจะต้องมีความรับผิดชอบเป็นพิเศษตามมาด้วย
ผมยืนยันว่านักหนังสือพิมพ์จักต้องเป็น “ผู้ดี” เพราะท่านมีสิทธิพิเศษยิ่งกว่าปวงชนธรรมดา ท่านจึงต้องมีความรับผิดชอบเป็นพิเศษเพิ่มขึ้น เมื่อท่านมี หรือได้มาซึ่งสิทธิพิเศษนี้ ในทางที่ดีที่ควร
ขอยกตัวอย่างสักสองอย่างที่ผมกล่าวว่านักหนังสือพิมพ์มีสิทธิพิเศษ

  1. ในที่ประชุมสำคัญ เขาจัดที่นั่งให้ท่านเป็นพิเศษ ไม่ต้องไปปะปนกันกับผู้อื่น ท่านได้ดี ได้ยินชัด เพื่อท่านจะได้ทำหน้าที่ของท่านได้โดยสะดวก หน้าที่อันสำคัญนี้ก็คือ ท่านจะได้เสนอข่าวโดยถูกต้องเที่ยงธรรม ให้มหาชนได้เข้าใจเรื่องราวโดยถูกต้องแจ่มแจ้ง ท่านเสนอข่าวนั้นเพราะท่านได้เห็นมาแก่ตา ไม่ใช่ท่านยกเมฆ ท่านทำหน้าที่ของท่านเป็นอย่างดี ท่านจึงสมควรได้รับสิทธิพิเศษ และท่านก็สำนึกในความรับผิดชอบของท่าน ดังนี้แหละท่านจึงต้องเป็นผู้ดีผู้เจริญ
  2. ท่านมีสิทธิพิเศษสำคัญที่คนอื่นเขาไม่มี คือท่านเขียนลงในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ติชมใครก็ได้ จริงอยู่ท่านทำได้ภายในขอบเขตที่ไม่ถึงหมิ่นประมาท หากบางคราวท่านก็อาจจะล้ำเขตไปบ้าง แต่ผู้ถูกติขี้คร้านไม่อยากที่จะไปก่อความยาวสาวความยืด ท่านเป็นผู้ดีถ้าท่านถือหลักว่าจะชมผู้ที่ควรชม จะสรรเสริญผู้ที่ควรได้รับความสรรเสริญ จะติผู้ที่ควรติ ท่านไม่มีอคติ ท่านทำหน้าที่ของท่านด้วยความซื่อสัตย์ ท่านมิได้หวังอะไรตอบแทนจากผู้หนึ่งผู้ใด ท่านมีสิทธิพิเศษกว่าผู้อื่นแต่ท่านมิได้ใช้สิทธิพิเศษนี้ในทางผิด ท่านสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมและศีลธรรม ดังนี้แหละท่านจึงต้องเป็นผู้ดีผู้เจริญ

Comments: Post a Comment



<< Home

This page is powered by Blogger. Isn't yours?